"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ จัดเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาต ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป โดยมีใจความดังนี้
เหตุการณ์สำคัญ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆ องค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
การปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนที่พึงกระทำในวันมาฆบูชา
ช่วงเช้า การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือจัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด หลังเสร็จพิธีสงฆ์เข้าร่วมการฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา
ช่วงค่ำ ประกอบพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน โดยเดินเวียนทางด้านขวาและให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชา